สมาคมวิศวกรรมเกษตรแห่งประเทศไทย (ฉบับแก้ไข พ.ศ. 2544)
หมวด 1 ชื่อเครื่องหมายและสถานที่ ข้อ 1 สมาคมนี้มีชื่อ “สมาคมวิศวกรรมเกษตรแห่งประเทศไทย” ใช้อักษรย่อว่า สวกท. มืชื่อภาษาอังกฤษว่า “Thai Society of Agricultural Engineering” ใช้อักษรย่อว่า TSAE ข้อ 2 เครื่องหมายของสมาคมเป็นรูป ข้อ 3 สำนักงานของสมาคมตั้งอยู่ที่ ภาควิชา วิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
หมวด 2 วัตถุประสงค์ ข้อ 4 เพื่อส่งเสริมการศึกษา วิจัย และเผยแพร่วิทยาการทางวิศวกรรมเกษตร และชีววิศวกรรม ข้อ 5 เพื่อส่งเสริมสามัคคีธรรม ผดุงเกียรติ และสงเคราะห์ช่วยเหลือระหว่างสมาชิก และให้สวัสดิการแก่สมาชิก ข้อ 6 เพื่อส่งเสริมการกุศล การกีฬา และการบันเทิง ข้อ 7 เพื่อส่งเสริมเกียรติแห่งวิชาชีพวิศวกรรมเกษตร และสมาชิกผู้ประกอบกิจทางด้านวิศวกรรมเกษตรอันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ข้อ 8 เพื่อประสานงานระหว่างสถาบันต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ที่มีวัตถุประสงค์ทำนองเดียวกัน
หมวด 3 สมาชิก ข้อ 9 สมาชิกมี 4 ประเภท คือ (1) สมาชิกสามัญ ได้แก่ ผู้ที่กำลังปฏิบัติงานด้านวิศวกรรม สาขาวิศวกรรมเกษตร หรือผู้สนใจกิจการของสมาคม (2) สมาชิกภาคี ได้แก่ นิสิต นักศึกษา (3) สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ ผู้ทรงเกียรติ หรือผู้ที่ทรงคุณวุฒิที่คณะกรรมการบริหารสมาคม มีมติเป็นเอกฉันท์ให้เชิญเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ (4) สมาชิกนิติบุคคล เช่น บริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด สมาคม กลุ่มสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร ฯลฯ ข้อ 10 ผู้ที่ประสงค์จะสมัครเป็นสมาชิกภาคีและสามัญของสมาคมให้ยื่นใบสมัครตามแบบ และวิธีการของสมาคมพร้อมค่าบำรุงต่อเลขาธิการสมาคม ข้อ 11 ผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกตามข้อ 10 ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติดังต่อไปนี้ (1) มีความประพฤติเรียบร้อย (2) ไม่เป็นผู้ต้องรับอาญาจำคุกโดยคำพิพากษาโทษจำคุกเว้นแต่ความผิดลหุโทษหรือความ ผิดอันได้กระทำขึ้นโดยประมาท ข้อ 12 เมื่อคณะกรรมการบริหารสมาคมรับผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกตามข้อ 10 แล้วให้เลขาธิการสมาคมแจ้งให้ผู้สมัครทราบเป็นหนังสือพร้อมกับหนังสือข้อ บังคับที่ใช้อยู่ของสมาคมไปด้วย 1 ชุด และให้แจ้งนายทะเบียนและเหรัญญิกสมาคมทราบเป็นหนังสือภายใน 7 วัน ข้อ 13 ให้นายทะเบียนสมาคมให้เลขที่สมาชิก ออกบัตรสมาชิกและลงชื่อผู้ได้รับเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมทุกประเภทไว้ใน ทะเบียนสมาชิก และประกาศชื่อให้ทราบทั่วกันในวารสารและที่สำนักงานของสมาคม ข้อ 14 บัตรประจำตัวของสมาชิก คณะกรรมการบริหารสมาคมเป็นผู้กำหนดและจัดทำขึ้นและให้นายกสมาคมเป็นผู้ลงชื่อในบัตรประจำตัวนั้น ข้อ 15 ในกรณีที่คณะกรรมการบริหารสมาคมพิจารณาเห็นว่ารับสมัครเข้าเป็นสมาชิกไม่ได้ ให้เลขาธิการสมาคมแจ้งให้ผู้สมัครทราบเป็นหนังสือพร้อมกับคืนค่าบำรุงภายใน 7 วัน แต่ไม่ตัดสิทธิผู้สมัครผู้นั้นที่จะสมัครใหม่อีกเมื่อพ้นระยะ 1 ปี ข้อ 16 สมาชิกสามัญอาจได้รับเชิญเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ได้โดยไม่เสียสิทธิในการ เป็นสมาชิกเดิม แต่ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ของการเป็นสมาชิกเดิมโดยสมบูรณ์ ข้อ 17 สมาชิกอาจจะขอเปลี่ยนประเภทได้เมื่อมีคุณสมบัติครบตามข้อกำหนดของสมาชิกประเภทนั้น ๆ โดยยื่นหนังสือต่อเลขาธิการสมาคม
หมวด 4 ค่าบำรุงและค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ข้อ 18 สมาชิกภาคีต้องเสียบำรุงคนละ 100 บาทต่อปี สมาชิกสามัญต้องเสียค่าบำรุงคนละ 200 ต่อปี หรือค่าบำรุงตลอดชีพคนละ 2,000 บาท และสมาชิกนิติบุคคลต้องเสียค่าบำรุงรายละ 1,000 บาทต่อปี ข้อ 19 ค่าบำรุงสมาคมให้นับจากเดือนมกราคม ถึงเดือนธันวาคมเป็น 1 ปี ข้อ 20 ค่าบำรุประจำปีให้ชำระภายในเดือนกุมภาพันธ์ทุกปี ข้อ 21 ค่าธรรมเนียมหมายถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากค่าบำรุงที่สมาชิกจะต้องชำระ
หมวด 5 สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก ข้อ 22 สมาชิกมีสิทธิประดับเครื่องหมายของสมาคมซีงสมาคมเป็นผู้จำหน่ายให้ ข้อ 23 สมาชิกมีสิทธิใช้สถานที่รับวารสารหรือข่าวสารของสมาคม และรับบริการต่างๆ ที่สมาคมจัดให้มีขึ้น ข้อ 24 สมาชิกมีสิทธิเข้าประชุมในที่ประชุมใหญ่ซึ่งเลขาธิการสมาคมจะแจ้งให้ทราบ ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน ข้อ 25 สมาชิกมีสิทธิในการเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับกิจการทั้งหลายของสมาคมต่อคณะ กรรมการบริหารสมาคมหรือในที่ประชุมใหญ่ ข้อ 26 สมาชิกสามัญเท่านั้นมีสิทธิสมัครเข้ารับเลือกเป็นนายกสมาคม ข้อ 27 สมาชิกสามัญและสมาชิกนิติบุคคลมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งนายกสมาคมและ การลงมติอื่น ๆ โดยถือหลักสมาชิก 1 ราย ลงเสียงได้ 1 เสียง โดยสมาชิกนิติบุคคลต้องออกเสียงโดยผู้มีมีอำนาจลงนาม หรือมีหนังสือรับรองจากผู้มีอำนาจลงนามยื่นต่อคณะกรรมการเลือกตั้งในกรณี เป็นตัวแทนของนิติบุคคลนั้น ข้อ 28 สมาชิกมีหน้าที่ร่วมมือส่งเสริมและปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ของสมาคม ช่วยเหลือและรักษาเกียรติคุณของสมาคม ปฏิบัติตามระเบียบและข้อบังคับของสมาคมและให้ความร่วมมือในการเป็นกรรมการ หรืออนุกรรมการช่วยการดำเนินงานของสมาคม ข้อ 29 ผู้ที่ขาดจากการเป็นสมาชิกภาพย่อมไม่ได้รับสิทธิและหน้าที่ที่กล่าวมาแล้ว ข้างต้นและไม่มีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับทรัพย์สินของสมาคม
หมวด 6 การขาดจากสมาชิกภาพ ข้อ 30 สมาชิกขาดจากสมาชิกภาพต่อเมื่อ (1) ตาย (2) ลาออก (3) ถูกถอนชื่อออกจากทะเบียน (4) ขาดคุณสมบัติตามหมวด 3 ข้อ 11 หรือประพฤติตนเป็นการเสื่อมเสียแก่สมาคมอย่างร้ายแรงและคณะกรรมการบริหาร สมาคมลงมติให้ออกด้วยคะแนนเสียง 3 ใน 4 ข้อ 31 สมาชิกคนใดประสงค์จะลาออกจากสมาชิกภาพให้แสดงความจำนงเป็นลายลักษณ์อักษร ยื่นต่อเลขาธิการสมาคมเพื่อนำเสนอคณะกรรมการบริหารสมาคมเพื่อทราบ ข้อ 32 สมาชิกผู้ใดไม่ชำระค่าบำรุง หรือมีหนี้สินอย่างอื่นกับสมาคมให้เหรัญญิกส่งหนังสือเตือนไป 2 ครั้ง การเตือนแต่ละครั้งให้มีระยะห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน ถ้าสมาชิกผู้นั้นไม่ชำระหรือไม่ชี้แจงเหตุผลจนเป็นที่พอใจภายใน 30 วัน หลังจากการเตือนครั้งสุดท้ายให้คณะกรรมการบริหารสมาคมถอนชื่อสมาชิกผู้นั้น ออกจากทะเบียนสมาชิกได้ ข้อ 33 ผู้ที่ขาดจากสมาชิกภาพแล้วให้เลขาธิการแจ่งต่อเหรัญญิกและนายทะเบียนสมาคม ทราบภายใน 7 วัน
หมวด 7 คณะกรรมการบริหารสมาคม ข้อ 34 นายกสมาคมเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสมาคม ซึ่งประกอบด้วยบุคคลจำนวนอย่างน้อย 9 คน ซึ่งมีหน้าที่ต่างๆ กันดังนี้ 1. นายก 2. อุปนายก 3. เลขาธิการ 4. เหรัญญิก 5. นายทะเบียน 6. ปฎิคม 7. สาราณียกร 8. ประธานฝ่ายวิชาการ 9. ประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์ 10. ตำแหน่งอื่นๆ ตามความเหมาะสม
หมวด 8 การเลือกตั้งนายกสมาคม ข้อ 35 ให้ที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีเลือกตั้งนายกสมาคมในทุก 2 ปี โดยให้สมาชิกสามัญและสมาชิกนิติบุคคลลงคะแนนเลือกนายกสมาคมและคัดเลือกนายก สมาคมด้วยคะแนนเสียงข้างมาก ข้อ 36 ก่อนวันประชุมเลือกตั้ง 30 วันของปีที่จะมีการเลือกตั้งนายกสมาคม สมาชิกสามัญผู้ใดประสงค์จะสมัครรับเลือกเป็นนายกสมาคม ต้องส่งใบสมัครให้เลขาธิการสมาคม หรือให้มีการเสนอชื่อจากสมาชิกในวันเลือกตั้ง ข้อ 37 สมาชิกที่สมัครหรือถูกเสนอชื่อเข้ารับเลือกตั้งและสมาชิกที่มีสิทธิลงคะแนน เสียงเลือกตั้งต้องเป็นผู้ที่ไม่ขาดจากสมาชิกภาพตามหมวด 6 ข้อ 30 ข้อ 38 เลขาธิการสมาคมต้องประกาศเลขที่และชื่อของผู้สมัครเข้ารับเลือกตั้งให้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน ณ ที่ทำการของสมาคม ข้อ 39 เลขาธิการสมาคมต้องประกาศเลขที่และรายชื่อสมาชิกที่มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง ให้ทราบก่อนการเลือกตั้งอย่างน้อย 15 วัน ณ ที่ทำการของสมาคมฯ ข้อ 40 ให้คณะกรรมการบริหารสมาคมซึ่งจะหมดอายุตามวาระเป็นผู้เตรียมการเลือกตั้ง โดยมีที่ประชุมใหญ่สามัญเลือกประธานการเลือกตั้งและผู้ช่วยอีก 4 คน เป็นคณะกรรรมการเลือกตั้งดำเนินการและควบคุมการเลือกตั้งให้เป็นโดยยุติธรรม คณะกรรมการเลือกตั้งไม่ควรเป็นผู้ที่สมัครเข้ารับเลือกตั้ง ข้อ 41 ให้ประธานการเลือกตั้งนับคะแนนเสียงและประกาศผลการเลือกตั้งให้ที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีทราบภายในวันเลือกตั้ง ข้อ 42 นายกสมาคมและคณะกรรมการบริหารสมาคมอยู่ในตำแหน่งได้คราวละไม่เกิน 2 ปี โดยนับจากอายุของนายกสมาคมและคณะกรรมการบริหารสมาคมตั้งแต่วันที่ได้รับมอบ งานจากนายกสมาคมและคณะกรรมการบริหารสมาคมชุดเดิมเป็นต้นไป
หมวด 9 อำนาจหน้าที่ของกรรมการบริหารสมาคม ข้อ 43 นายกสมาคมเป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารและในที่ประชุมใหญ่มี หน้าที่เป็นหัวหน้าและรับผิดชอบในการบริหารกิจกรรมของสมาคม และมีอำนาจถอดถอนกรรมการบริหารสมาคมได้โดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหาร ข้อ 44 อุปนายกมีหน้าที่เป็นผู้ช่วยนายกสมาคม และทำหน้าที่บริหารกิจกรรมแทนเมื่อนายกไม่สามารถปฏิบัติงานได้ ข้อ 45 เลขาธิการมีหน้าที่ดำเนินการงานของสมาคมตามที่นายกหรืออุปนายกจะกำหนดมอบ หมายให้ และมีหน้าที่ติดต่อกับสมาชิกและบุคคลภายนอกในกิจการทั่วไป รักษาระเบียบข้อบังคับนัดประชุมกรรมการบริหารสมาคม โดยแจ้งระเบียบวาระล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 3 วัน เว้นแต่เป็นการด่วนจะนัดประชุมเร็วกว่านั้นก็ได้ จดบันทึกการประชุมดำเนินการให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการบริหารสมาคมหรือ สมาชิกและเป็นผู้รักษาเอกสารของสมาคม ข้อ 46 เหรัญญิกมีหน้าที่รับจ่ายและรักษาเงินรวมทั้งทำบัญชีรับจ่ายหนี้สิน และเอกสารการเงินของสมาคมทำบัญชีการเงินรายเดือน งบประมาณและงบดุลประจำปีเสนอคณะกรรมการบริหารสมาคม ข้อ 47 นายทะเบียนมีหน้าที่จัดทำทะเบียนและประวัติของสมาชิก ข้อ 48 ปฏิคมมีหน้าที่ติดต่อ ต้อนรับ ข้อ 49 สาราณียกรมีหน้าที่จัดการรับผิดชอบและดำเนินการเกี่ยวกับการจัดทำเอกสารและวารสารของสมาคม ข้อ 50 ประธานฝ่ายวิชาการมีหน้าที่ในการจัดการสัมมนา นิทรรศการและรวบรวมเอกสารทางวิชาการ ข้อ 51 ประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์มีหน้าที่ในการจัดการถ่ายภาพและเผยแพร่กิจกรรมของสมาคม ข้อ 52 กรรมการตำแหน่งอื่นๆ มีหน้าที่คอยช่วยเหลือกิจการต่างๆ ของสมาคม และมีหน้าที่ตามแต่นายกสมาคมจะมอบหมายให้
หมวด 10 การพ้นจากตำแหน่งจากกรรมการบริหารสมาคม ข้อ 53 กรรมการบริหารสมาคมพ้นจากตำแหน่งโดย 1. ออกตามวาระ 2. ลาออก 3. ตาย 4. ขาดจากสมาชิกภาพ 5. คณะกรรมการบริหารมีมติให้พ้นจากตำแหน่ง 6. ต้อง รับอาญาจำคุกโดยคำพิพากษาโทษจำคุกเว้นแต่ความผิดฐานลหุโทษหรือความผิดอันได้ กระทำขึ้นโดยประมาท 7. ก่อ ให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สมาคม และที่ประชุมใหญ่ลงมติไม่ไว้วางใจและถอนกรรมการบริหารสมาคมทั้งคณะหรือบางคน โดยคะแนนเสียง 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกที่มาประชุม ข้อ 54 ถ้ากรรมการบริหารผู้ใดพ้นจากตำแหน่งตามข้อ 53 เว้นแต่ข้อ 53 (3) และ 53 (6) ให้มีการมอบหมายงานต่างๆ ให้แก่กรรมการบริหารสมาคมที่เข้ามารับหน้าที่ใหม่ภายใน 30 วัน ในกรณีที่พ้นจากตำแหน่งตามข้อ 53 (3) และ 53 (6) ให้คณะกรรมการที่เหลืออยู่ทำการมอบหมายงานต่างๆ แทน
หมวด 11 การดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารสมาคม ข้อ 55 การบริหารสมาคมจะกระทำได้ต่อเมื่อได้จัดตั้งกรรมการบริหารสมาคมครบตามหมวด 7 ข้อ 34 แล้ว โดยมีนายกสมาคมเป็นประธาน ข้อ 56 คณะกรรมการบริหารสมาคมมีอำนาจและหน้าที่ คือ 1. บริหารกิจการของสมาคมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ 2. วางระเบียบขึ้นใช้โดยไม่ขัดแย้งต่อวัตถุประสงค์ 3. แต่งตั้งกรรมการที่ปรึกษา อนุกรรมการหรือพิจารณาเชิญผู้มีเกียรติคุณเข้าเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ ทั้งนี้จะเป็นการชั่วคราวหรือถาวรก็ได้ 4. แต่งตั้ง บรรจุ ปลด พนักงานของสมาคม 5. พิจารณา และลงมติการรับและถอดถอนสมาชิก 6. พิจารณา การให้ของสำหรับเป็นที่ระลึกในนามของสมาคมแก่ผู้ที่ช่วยเหลือกิจการของสมาคม 7. พิจารณา การรับและการให้ความช่วยเหลือจากรัฐบาล องค์การรัฐวิสาหกิจ สถาบันและบุคคลโดยไม่เป็นภาระผูกพันในทางหนี้สินแก่สมาคมเว้นแต่ได้รับ อนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ ข้อ 57 ในขณะที่คณะกรรมการบริหารสมาคมชุดใหม่ยังมิได้รับมอบหมายการงานจากคณะ กรรมการบริหารสมาคมชุดเก่า ให้คณะกรรมการบริหารสมาคมชุดเก่ารับผิดชอบบริหารงานต่อไปได้เท่าที่จำเป็น ต่อการมอบหมายงาน แต่ทั้งนี้ต้องจัดการมอบหมายการงานให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการบริหารสมาคมชุดใหม่ได้รับเลือกตั้งการมอบหมายการ งานให้ทำเป็นหนังสือไว้เป็นหลักฐาน ทั้งให้ระบุวันเริ่มต้นมอบหมายและเสร็จสิ้นของการมอบหมายการงานนั้นด้วย ข้อ 58 ในกรณีที่นายกสมาคมไม่สามารถปฏิบัติงานได้ให้อุปนายกสมาคมทำหน้าที่แทน ถ้านายกและอุปนายกไม่สามารถปฏิบัติงานได้ให้คณะกรรมการบริหารสมาคมเลือก กรรมการคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่แทน ข้อ 59 ถ้าตำแหน่งนายกสมาคมว่างลงเพราะสาเหตุอื่น นอกจากถึงคราวออกตามวาระให้อุปนายกสมาคมเป็นนายกสมาคมไปจนหมดวาระ แต่ถ้าว่างลงเพราะนายกสมาคมออกให้ถือว่าคณะกรรมการชุดนั้นหมดสภาพการเป็น กรรมการบริหารของสมาคม และให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 30 วัน ข้อ 60 ถ้ากรรมการบริหารสมาคมตำแหน่งใดว่างลงให้นายกสมาคมแต่งตั้งจากสมาชิกเข้าดำรงตำแหน่งที่ว่างนั้นจนกว่าจะหมดอายุตามวาระ
หมวด 12 การดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารสมาคม ข้อ 61 กรรมการที่ปรึกษาที่คณะกรรมการบริหารสมาคมได้เชิญมาเป็นกรรมการ มีหน้าที่ให้คำแนะนำในกิจการทั่วไปของสมาคม และอยู่ในตำแหน่งตามวาระของคณะกรรมการบริหารสมาคมชุดที่เป็นผู้แต่งตั้งนั้น ข้อ 62 คณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการบริหารสมาคมได้แต่งตั้งขึ้นมีหน้าที่ดำเนินการไป ตามที่คณะกรรมการบริหารสมาคมจะมอบหมายให้เป็นครั้งคราว และอยู่ในตำแหน่งตามที่ได้รับมอบหมาย หรือตามวาระของคณะกรรมการบริหารสมาคมชุดที่เป็นผู้แต่งตั้งนั้น ข้อ 63 กรรมการที่ปรึกษาและอนุกรรมการไม่มีสิทธิออกเสียงลงมติในที่ประชุมคณะ กรรมการบริหารสมาคม
หมวด 13 การดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารสมาคม ข้อ 64 การประชุมแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 1. การประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคม 2. การประชุมใหญ่วิสามัญ 3. การประชุมใหญ่สามัญ ข้อ 65 การประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคม มีดังนี้ 1. ให้คณะกรรมการบริหารสมาคม ประชุมปรึกษาหารือกิจการของสมาคม ปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง โดยให้เลขาธิการสมาคมเป็นผู้เรียกประชุมตามความเห็นชอบของนายกสมาคม หรือของกรรมการบริหารสมาคม ตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป 2. องค์ประชุมทุกครั้งต้องมีกรรมการบริหารสมาคมเข้าประชุมไม่น้อยกว่า 7 คน ให้นายกสมาคมเป็นประธานในที่ประชุม ถ้านายกสมาคมไม่อยู่ให้ที่ประชุมเลือกตั้งประธานขึ้นชั่วคราวในการประชุม ครั้งนั้น 3. นอกจากจะได้บังคับไว้เป็นอย่างอื่น มติของที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมให้ถือเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมเป็นผู้ชี้ขาด ข้อ 66 การประชุมใหญ่วิสามัญ ให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญได้ดังนี้ 1. คณะกรรมการบริหารสมาคมได้ประชุมเห็นสมควรด้วยคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง ให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญ 2. สมาชิกไม่น้อยกว่า 20 คน มีสิทธิร้องขอให้เปิดประชุมใหญ่วิสามัญได้ โดยแสดงความจำนงเป็นหนังสือต่อเลขาธิการสมาคมล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน ถ้าสมาชิกที่ร้องขอมาประชุมไม่ครบตามจำนวน 20 คน ให้ถือว่าไม่ครบองค์ประชุม 3. ทั้ง ข้อ1 และ ข้อ 2 ให้เลขาธิการสมาคมเป็นผู้นัดหมายพร้อมกับส่งระเบียบวาระการประชุมให้สมาชิก ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 20 คน และก่อนเวลาประชุมไม่น้อยกว่า 7 วัน 4. การประชุมใหญ่วิสามัญทุกครั้งต้องมีสมาชิกเข้าประชุมไม่น้อยกว่า 20 คน จึงจะเป็นองค์ประชุมดำเนินการได้ ข้อ 67 การประชุมใหญ่สามัญ 1. ให้คณะกรรมการบริหารสมาคมเรียกประชุมใหญ่อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง องค์ประชุมของการประชุมใหญ่สามัญต้องประกอบด้วยสมาชิกสามัญและสมาชิก นิติบุคคลรวมกันไม่น้อยกว่า 40 ราย ในกรณีที่ไม่ครบองค์ประชุมให้เรียกประชุมใหญ่ภายใน 60 วัน การประชุมครั้งนี้สมาชิกจะมาเท่าใดไม่จำกัดให้ถือเป็นองค์ประชุมได้ และให้มีระเบียบวาระดังต่อไปนี้ ก. นายกสมาคมแถลงผลงานในรอบปี ข. เหรัญญิกสมาคมเสนองบดุลซึ่งผู้ตรวจบัญชีของสมาคมรับรองแล้ว ค. เสนองบประมาณ ง. ปรึกษากิจการของสมาคม จ. เลือกตั้งนายกสมาคมตามวาระ (ถ้ามี) 2. ให้คณะกรรมการบริหารสมาคมเรียกประชุมใหญ่ โดยแจ้งให้สมาชิกทราบก่อนล่วงหน้าเป็นหนังสือไม่น้อยกว่า 15 วัน พร้อมทั้งสถานที่และระเบียบวาระการประชุม ข้อ 68 การประชุมใหญ่ทุกครั้งให้นายกสมาคมเป็นประธานประชุม ถ้านายกไม่อยู่หรือไม่สามารถดำเนินการได้ ให้อุปนายกสมาคมเป็นประธานที่ประชุม ถ้าทั้งนายกและอุปนายกไม่สามารถดำเนินการได้ ให้ที่ประชุมเลือกจากกรรมการบริหารสมาคมคนหนึ่งเป็นประธานที่ประชุมนั้น ข้อ 69 นอกจากจะบังคับไว้เป็นอย่างอื่น มติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก หากคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานที่ประชุมเป็นผู้ชี้ขาด ข้อ 70 ในที่ประชุมใหญ่ และประชุมกรรมการบริหารทุกครั้ง ให้เลขาธิการหรือผู้ช่วยเลขาธิการสมาคมเป็นผู้บันทึกรายงานการประชุม และให้ประธานที่ประชุมลงนามรับรองเพื่อรักษาไว้เป็นหลักฐาน
หมวด 14 การเงิน ข้อ 71 ให้นากยกสมาคมและเหรัญญิกสมาคมเป็นผู้รับผิดชอบในการเงินและทรัพย์สินของสมา คมตามกฏหมาย และให้ทำรายงานการเงินและทรัพย์สินเสนอต่อคณะกรรมการบริหารสมาคมทุก 6 เดือน ข้อ 72 เงินของสมาคมต้องนำฝากธนาคารหรือสถาบันการเงินที่เชื่อถือได้ และที่คณะกรรมการบริหารได้รับรองในนามสมาคม เงินส่วนหนึ่งให้นำฝากธนาคารประเภทเงินฝากประจำ หรือกระทำการอื่นใดที่จะก่อให้เกิดดอกออกผลตามที่คณะกรรมการบริหารจะเห็น สมควร เว้นแต่กรณีเงินบริจาคซึ่งผู้บริจาคได้กำหนดเงื่อนไขไว้เป็นอย่างอื่น ข้อ 73 เหรัญญิกของสมาคมจะเก็บรักษาเงินสดไว้สำรองจ่ายได้ไม่เกิน 10,000 บาท ถ้าเกินจากนั้นต้องนำฝากธนาคาร ข้อ 74 การสั่งจ่ายเงินของสมาคมจากธนาคาร ให้นายกสมาคมหรือเลขาธิการ และเหรัญญิกร่วมกัน 2 คน เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเงินในกิจการหนึ่งๆ คราวละไม่เกิน 50,000 บาท ถ้ามีความจำเป็นต้องจ่ายเงินเกิน 50,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ให้ขอมติจากคณะกรรมการบริหารสมาคม ถ้าคราวละมากกว่า 100,000 บาท ให้ขอมติจากที่ประชุมใหญ่เป็นกรณีไป ข้อ 75 การจ่ายเงินทุกครั้งต้องมีหลักฐานในการจ่ายนั้นๆ ไว้เป็นหนังสือเพื่อเก็บสอบจนครบจำนวน ข้อ 76 ให้คณะกรรมการบริหารสมาคมแต่งตั้งผู้สอบบัญชีซึ่งได้จดทะเบียนไว้ถูกต้องตามกฏหมายเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีของสมาคม
หมวด 15 การแก้ไขข้อบังคับ ข้อ 77 การแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมข้อบังคับจะทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจาก ที่ประชุมใหญ่ และต้องได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกผู้มีสิทธิออกเสียงที่มาประชุม ข้อ 78 ที่ประชุมใหญ่ลงมติในการนี้ก็ต่อเมื่อมีสมาชิกผู้มีสิทธิออกเสียงไม่น้อย กว่า 20 คน หรือคณะกรรมการบริหารสมาคมเป็นผู้เสนอ โดยให้เสนอเป็นหนังสือต่อเลขาธิการสมาคมล่วงหน้าก่อนที่จะมีการประชุมใหญ่ นั้นไม่น้อยกว่า 30 วัน ข้อ 79 ให้เป็นหน้าที่ของเลขาธิการสมาคม โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารสมาคมส่งสำเนาข้อเสนอนั้นไปให้สมาชิกผู้ มีสิทธิออกเสียงไม่น้อยกว่า 20 วัน และให้ประกาศไว้ ณ สำนักงานสมาคมไม่น้อยกว่า 10 วัน ก่อนที่จะมีการประชุม ข้อ 80 ข้อบังคับที่ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมดังกล่าวนั้นใช้บังคับเมื่อ ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว
หมวด 16 การเลิกสมาคมและการชำระบัญชี ข้อ 81 การเลิกสมาคมให้กระทำโดยคะแนะนเสียง 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดในที่ประชุมใหญ่ ข้อ 82 ให้ที่ประชุมใหญ่เป็นผู้ลงมติแต่งตั้งผู้ชำระบัญชี ทำการชำระบัญชีให้เป็นไปตามกฏหมาย ข้อ 83 ทรัพย์ของสมาคมที่เหลือจากการชำระบัญชีมีอยู่เท่าใด ให้ตกเป็นของนิติบุคคล ซึ่งมีวัตถุประสงค์อย่างเดียวกัน หรือการกุศลอย่างอื่น ตามแต่ที่ประชุมใหญ่ของสมาคมจะเห็นสมควร