ถั่วงอกเป็นพืชที่มีคุณค่าทางอาหารสูง สะอาด ถูกอนามัย เพราะไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลงในการผลิต กระบวนการผลิตหรือการทำให้งอกนั้น ทำได้ง่ายใช้เวลาสั้น เพาะได้ในที่ร่มตลอดปี ถั่วงอกเป็นผลผลิตจากถั่วเขียวที่ชาวไทยนิยมนำมาประกอบอาหารเป็นเวลายาวนาน หากคิดปริมาณที่คนกรุงเทพมหานคร บริโภคถั่วงอกแล้ว ไม่ต่ำกว่า 200 ตันต่อวัน จากความต้องการบริโภคถั่วงอกที่มากเช่นนี้ ทำให้พ่อค้า แม่ค้า นำสารฟอกขาวและอาจมีฟอร์มาลีนมาใช้เพื่อให้ถั่วงอกขาวสดอยู่ได้นาน และไม่เน่าเสียง่าย แต่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
รศ. มนตรี ค้ำชู อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้ทำงานที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการชลประทาน การให้น้ำแก่พืชด้วยระบบน้ำหยด จึงได้พัฒนาเครื่องเพาะถั่วงอกขนาดครอบครัว 1.5 กิโลกรัม หรือน้อยกว่าเท่าที่ต้องการ เพื่อให้ครอบครัวมีถั่วงอกที่สดรับประทานได้ตามความต้องการ สำหรับเครื่องเพาะถั่วงอกขนาดครอบครัว จะใช้หลักธรรมชาติของน้ำ คือ กาลักน้ำและใช้การควบคุมเวลา และการรดน้ำได้ตามกำหนด โดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้าเครื่องยนต์กลไกใด ๆ จึงเหมาะสำหรับการเพาะเมล็ดถั่วต่าง ๆ สำหรับบริโภคในครัวเรือนที่ได้ทั้งคุณภาพ และความสะอาด และปลอดภัยจากสารพิษ
วิธีการเพาะ เริ่มด้วยนำเมล็ดถั่วเขียว (ถั่วชนิดอื่น ๆ ก็ได้) ประมาณ 250 กรัม (น้อยกว่าก็ได้) ล้างให้สะอาด เทน้ำทิ้ง และแช่เมล็ดถั่วในน้ำธรรมดาหรือใช้น้ำอุ่น 50 – 60 ? คือน้ำเดือด 1 ส่วน ผสมกับน้ำเย็น 1 ส่วน นาน 6 – 8 ชั่วโมง หลังจากแช่เมล็ดแล้วก็นำเมล็ดถั่วเขียวเทลงใส่ตะกร้าสำหรับเมล็ดถั่วเพาะ จากนั้นนำตะกร้าเมล็ดเพาะถั่วใส่ถังพลาสติกชั้นล่าง ปิดฝาถังพลาสติกซึ่งมีอุปกรณ์รดน้ำ นำถังเก็บน้ำที่มีแกนท่อสีขาวตั้งซ้อนบนฝาถังพลาสติก ให้ลงช่องพอดี ห้ามเอียงเป็นอันขาด ต่อท่อพลาสติกสีดำขนาดเล็กกับก๊อกน้ำประปา โดยอาศัยปลายยาวเสียบกับก๊อกน้ำให้แน่น ปลายอีกด้านหนึ่งจะต่อหัวน้ำหยด ชนิดพิเศษที่ติดมากับชุดถึงชั้นบน เปิดก๊อกน้ำประปาพอสมควร ท่อน้ำหยดจะควบคุมการจ่ายน้ำอัตโนมัติ 2 ลิตร/ ชม. เปิดน้ำตลอดเวลาในการเพาะ 2? – 3 วัน จะทำให้น้ำเต็มถัง และถูกดูดลงไปรดถั่วงอกเองทุก ๆ 1 ? – 2 ? ชั่วโมง โดยอัตโนมัติ ควรตั้งถังไว้ในที่ไม่มีแสงสว่าง เช่น ห้องครัว ห้องน้ำ ต่อท่อระบายน้ำทั้งที่ถังชั้นล่างด้วย เมื่อเพาะครบ 3 วัน ก็สามารถนำถั่วงอกมาบริโภคในบ้าน หรือจะจำหน่ายแจกจ่ายให้กับเพื่อนบ้านก็ได้
เคล็ดลับ หากต้องการให้ถั่วงอกอ้วน และรากสั้น ให้หาสิ่งที่มีน้ำหนักกดทับถั่วงอก และอีกอย่างก่อนแช่ถั่วเขียวให้คัดเลือกเมล็ดเสียและเมล็ดอ่อนทิ้งก่อน เท่านั้นแหละ คุณแม่บ้านก็จะได้ถั่วงอกสวย สะอาด ปลอดภัยมารับประทานกัน หากบริโภคถั่วงอกสด ๆ ก็จะได้รับฮอร์โมนและเอนไซม์ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพด้วย ผู้สนใจเครื่องเพาะถั่วงอกอนามัยอัตโนมัติ ขนาดครอบครัว ติดต่อได้ที่
รศ. มนตรี ค้ำชู ภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทร.08-1618-5901, 08-5449-5552