ข้อบังคับ สมาคมวิศวกรรมเกษตรแห่งประเทศไทย (ฉบับแก้ไข พ.ศ. 2555)
หมวด 1 ชื่อเครื่องหมายและสถานที่
- สมาคมนี้มีชื่อ “สมาคมวิศวกรรมเกษตรแห่งประเทศไทย” ใช้อักษรย่อว่า สวกท. มีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Thai Society of Agricultural Engineering” ใช้อักษรย่อว่า TSAE
- เครื่องหมายของสมาคมเป็นรูป
- สำนักงานของสมาคมตั้งอยู่ที่ ภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
หมวด 2 วัตถุประสงค์
- เพื่อการเป็นที่ปรึกษา ส่งเสริมการศึกษา วิจัย และเผยแพร่วิทยาการทางวิศวกรรมเกษตร ชีววิศวกรรม และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
- เพื่อส่งเสริมสามัคคีธรรม ผดุงเกียรติ และสงเคราะห์ช่วยเหลือระหว่างสมาชิก และให้สวัสดิการแก่สมาชิก
- เพื่อส่งเสริมการกุศล การกีฬา และการบันเทิง
- เพื่อส่งเสริมเกียรติแห่งวิชาชีพวิศวกรรมเกษตร และสมาชิกผู้ประกอบกิจทางด้านวิศวกรรมเกษตรอันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
- เพื่อประสานงานระหว่างสถาบันต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ที่มีวัตถุประสงค์ทำนองเดียวกัน
หมวด 3 สมาชิก
- สมาชิก 4 ประเภท คือ
- สมาชิกสามัญ ได้แก่ ผู้ที่กำลังปฏิบัติงานด้านวิศวกรรม สาขาวิศวกรรมเกษตร หรือผู้สนใจกิจการของสมาคม
- สมาชิกภาคี ได้แก่ นิสิต นักศึกษา
- สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ ผู้ทรงเกียรติ หรือ ผู้ที่ทรงคุณวุฒิ ที่คณะกรรมการบริหารสมาคม มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้เชิญเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์
- สมาชิกนิติบุคคล เช่น บริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด สมาคม กลุ่มสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร ฯลฯ
- ผู้ที่ประสงค์จะสมัครเป็นสมาชิก ภาคีและสามัญ ของสมาคม ให้ยื่นใบสมัครตามแบบและวิธีการของสมาคมพร้อมค่าบำรุงต่อเลขาธิการสมาคม
- ผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกตามข้อ 10 ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติดังต่อไปนี้
- มีความประพฤติเรียบร้อย
- ไม่เป็นผู้ต้องรับอาญาจำคุกโดยคำพิพากษาโทษจำคุก เว้นแต่ความผิดลหุโทษ หรือความผิดอันได้กระทำขึ้นโดยประมาท
- เมื่อคณะกรรมการบริหารสมาคมรับผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกตามข้อ 10 แล้วให้เลขาธิการสมาคมแจ้งให้ผู้สมัครทราบเป็นหนังสือ พร้อมกับหนังสือข้อบังคับที่ใช้อยู่ของสมาคมไปด้วย 1 ชุด
และให้แจ้งนายทะเบียนและเหรัญญิกสมาคมทราบเป็นหนังสือภายใน 7 วัน - ให้นายทะเบียนสมาคมให้เลขที่สมาชิก ออกบัตรสมาชิก และลงชื่อผู้ได้รับเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมทุกประเภทไว้ในทะเบียนสมาชิก และประกาศชื่อให้ทราบทั่วกันในวารสารและที่สำนักงานของสมาคม
- บัตรประจำตัวของสมาชิก คณะกรรมการบริหารสมาคมเป็นผู้กำหนดและจัดทำขึ้น และให้นายกสมาคมเป็นผู้ลงชื่อในบัตรประจำตัวนั้น
- ในกรณีที่คณะกรรมการบริหารสมาคมพิจารณาเห็นว่า รับสมัครเข้าเป็นสมาชิกไม่ได้
ให้เลขาธิการสมาคมแจ้งให้ผู้สมัครทราบเป็นหนังสือพร้อมกับคืนค่าบำรุงภายใน 7 วัน แต่ไม่ตัดสิทธิผู้สมัครผู้นั้นที่จะสมัครใหม่อีกเมื่อพ้นระยะ 1 ปี - สมาชิกสามัญ อาจได้รับเชิญเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ได้โดยไม่เสียสิทธิในการเป็นสมาชิกเดิม
แต่ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ของการเป็นสมาชิกเดิมโดยสมบูรณ์ - สมาชิกอาจจะขอเปลี่ยนประเภทได้เมื่อมีคุณสมบัติครบตามข้อกำหนดของสมาชิกประเภทนั้น ๆ โดยยื่นหนังสือต่อเลขาธิการสมาคม
หมวด 4 ค่าบำรุงและค่าธรรมเนียมอื่นๆ
- สมาชิกภาคี ต้องเสียค่าบำรุงคนละ 100 บาทต่อปี สมาชิกสามัญต้องเสียค่าบำรุงคนละ 200 บาทต่อปี หรือค่าบำรุงตลอดชีพคนละ 2,000 บาท และสมาชิกนิติบุคคลต้องเสียค่าบำรุงรายละ 1,000 บาทต่อปี
- ค่าบำรุงสมาคมให้นับจากวันสมัครจนครบรอบ 12 เดือน นับเป็น 1 ปี
- ค่าบำรุงประจำปีให้ชำระภายหลังจากหมดอายุนับจากวันสมัคร หรือวันต่ออายุ
- ค่าธรรมเนียมหมายถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากค่าบำรุงที่สมาคมจะต้องชำระ
หมวด 5 สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก
- สมาชิกมีสิทธิประดับเครื่องหมายของสมาคมซึ่งสมาคมเป็นผู้จำหน่ายให้
- สมาชิกมีสิทธิใช้สถานที่ รับวารสาร หรือข่าวสารของสมาคม และรับบริการต่างๆ ที่สมาคมจัดให้มีขึ้น
- สมาชิกมีสิทธิเข้าประชุมในที่ประชุมใหญ่ ซึ่งเลขาธิการสมาคมจะแจ้งให้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน
- สมาชิกมีสิทธิในการเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับกิจการทั้งหลายของสมาคมต่อคณะกรรมการบริหารสมาคมหรือในที่ประชุมใหญ่
- สมาชิกสามัญเท่านั้นมีสิทธิสมัครเข้ารับเลือกเป็นนายกสมาคม
- สมาชิกสามัญและสมาชิกนิติบุคคลมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งนายกสมาคม และการลงมติอื่นๆ โดยถือหลักสมาชิก 1 ราย ลงเสียงได้ 1 เสียง โดยสมาชิกนิติบุคคลต้องออกเสียงโดยผู้มีอำนาจลงนาม หรือมีหนังสือรับรองจากผู้มีอำนาจลงนามยื่นต่อคณะกรรมการเลือกตั้งในกรณีเป็นตัวแทนของนิติบุคคลนั้น
- สมาชิกมีหน้าที่ร่วมมือส่งเสริมและปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ของสมาคม ช่วยเหลือและรักษาเกียรติคุณของสมาคม ปฏิบัติตามระเบียบและข้อบังคับของสมาคม และให้ความร่วมมือในการเป็นกรรมการหรืออนุกรรมการช่วยการดำเนินงานของสมาคม
- ผู้ที่ขาดจากการเป็นสมาชิกภาพ ย่อมไม่ได้รับสิทธิและหน้าที่ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น และไม่มีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับทรัพย์สินของสมาคม
หมวด 6 การขาดจากสภาชิกภาพ
- สมาชิกขาดจากสมาชิกภาพต่อเมื่อ
- ตาย
- ลาออก
- ถูกถอนชื่อออกจากทะเบียน
- ขาดคุณสมบัติตามหมวด 3 ข้อ 11 หรือประพฤติตนเป็นการเสื่อมเสียแก่สมาคมอย่างร้ายแรงและคณะกรรมการบริหารสมาคมลงมติให้ออกด้วยคะแนนเสียง 3 ใน 4
- สมาชิกคนใดประสงค์จะลาออกจากสมาชิกภาพ ให้แสดงความจำนงเป็นลายลักษณ์อักษรยื่นต่อเลขาธิการสมาคมเพื่อนำเสนอคณะกรรมการบริหารสมาคมเพื่อทราบ
- สมาชิกผู้ใดไม่ชำระค่าบำรุง หรือมีหนี้สินอย่างอื่นกับสมาคมให้เหรัญญิกส่งหนังสือเตือนไป
2 ครั้ง การเตือนแต่ละครั้งให้มีระยะห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน ถ้าสมาชิกผู้นั้นไม่ชำระหรือไม่ชี้แจงเหตุผลจนเป็นที่พอใจภายใน 30 วัน หลังจากการเตือนครั้งสุดท้ายให้คณะกรรมการบริหารสมาคม ถอนชื่อสมาชิกผู้นั้นออกจากทะเบียนสมาชิกได้ - ผู้ที่ขาดจากสมาชิกภาพแล้วให้เลขาธิการแจ้งต่อเหรัญญิกและนายทะเบียนสมาคมทราบ
ภายใน 7 วัน
หมวด 7 คณะกรรมการบริหารสมาคม
- นายกสมาคมเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสมาคม ซึ่งประกอบด้วยบุคคลจำนวนอย่างน้อย 9 คน ซึ่งมีหน้าที่ต่างๆ กันดังนี้
- นายก
- อุปนายก
- เลขาธิการ
- เหรัญญิก
- นายทะเบียน
- ปฏิคม
- สาราณียกร
- ประธานฝ่ายวิชาการ
- ประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์
- ตำแหน่งอื่นๆ ตามความเหมาะสม
หมวด 8 การเลือกตั้งนายกสมาคม
- ให้ที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีเลือกตั้งนายกสมาคม ในทุก 2 ปี โดยให้สมาชิกสามัญ
และสมาชิกนิติบุคคลลงคะแนนเลือกนายกสมาคม และคัดเลือกนายกสมาคมด้วยคะแนนเสียงข้างมาก - ก่อนวันประชุมเลือกตั้ง 30 วัน ของปีที่จะมีการเลือกตั้งนายกสมาคม สมาชิกสามัญผู้ใดประสงค์จะสมัครรับเลือกเป็นนายกสมาคม ต้องส่งใบสมัครให้เลขาธิการสมาคม หรือให้มีการเสนอชื่อจากสมาชิกในวันเลือกตั้ง
- สมาชิกที่สมัครหรือถูกเสนอชื่อเข้ารับเลือกตั้งและสมาชิกที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งต้องเป็นผู้ที่ไม่ขาดจากสมาชิกภาพตามหมวด 6 ข้อ 30
- เลขาธิการสมาคม ต้องประกาศเลขที่และชื่อของผู้สมัครเข้ารับเลือกตั้งให้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน ณ ที่ทำการของสมาคมฯ
- เลขาธิการสมาคม ต้องประกาศเลขที่และรายชื่อสมาชิกที่มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งให้ทราบก่อนการเลือกตั้งอย่างน้อย 15 วัน ณ ที่ทำการของสมาคมฯ
- ให้คณะกรรมการบริหารสมาคม ซึ่งจะหมดอายุตามวาระเป็นผู้เตรียมการเลือกตั้ง โดยมีที่ประชุมใหญ่สามัญเลือกประธานการเลือกตั้งและผู้ช่วยอีก 4 คน เป็นคณะกรรมการเลือกตั้งดำเนินการและควบคุมการเลือกตั้งให้เป็นโดยยุติธรรม คณะกรรมการเลือกตั้งไม่ควรเป็นผู้ที่สมัครเข้ารับเลือกตั้ง
- ให้ประธานการเลือกตั้งนับคะแนนเสียงและประกาศผลการเลือกตั้งให้ที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีทราบภายในวันเลือกตั้ง
- นายกสมาคม และคณะกรรมการบริหารสมาคม อยู่ในตำแหน่งได้คราวละไม่เกิน 2 ปี โดยนับอายุของนายกสมาคม และคณะกรรมการบริหารสมาคม ตั้งแต่วันที่ได้มอบงานจากนายกสมาคม และคณะกรรมการบริหารสมาคม ชุดเดิมเป็นต้นไป
หมวด 9 อำนาจและหน้าที่ของกรรมการบริหารสมาคม
- นายกสมาคมเป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารและในที่ประชุมใหญ่มีหน้าที่เป็นหัวหน้าและรับผิดชอบในการบริหารกิจการของสมาคม และมีอำนาจถอดถอนกรรมการบริหารสมาคมได้โดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหาร
- อุปนายกมีหน้าที่เป็นผู้ช่วยนายกสมาคม และทำหน้าที่บริหารกิจการแทนเมื่อนายกไม่สามารถปฏิบัติงานได้
- เลขาธิการมีหน้าที่ดำเนินการงานของสมาคม ตามที่นายกหรืออุปนายกจะกำหนดมอบหมายให้ และมีหน้าที่ติดต่อกับสมาชิก และบุคคลภายนอกในกิจการทั่วไป รักษาระเบียบข้อบังคับนัดประชุมกรรมการบริหารสมาคม โดยแจ้งระเบียบวาระล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 3 วัน เว้นแต่เป็นการด่วนจะนัดประชุมเร็วกว่านั้นก็ได้ จดบันทึกการประชุมดำเนินการให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการบริหารสมาคมหรือสมาชิก และเป็นผู้รักษาเอกสารของสมาคม
- เหรัญญิกมีหน้าที่รับจ่ายและรักษาเงินรวมทั้งทำบัญชีรับจ่ายหนี้สิน และเอกสารการเงินของสมาคม ทำบัญชีการเงินรายเดือน งบประมาณและงบดุลประจำปีเสนอคณะกรรมการบริหารสมาคม
- นายทะเบียนมีหน้าที่จัดทำทะเบียนและประวัติของสมาชิก
- ปฏิคมมีหน้าที่ติดต่อ ต้อนรับ
- สาราณียกรมีหน้าที่จัดการรับผิดชอบ และดำเนินการเกี่ยวกับการจัดทำเอกสารและวารสารของสมาคม
- ประธานฝ่ายวิชาการมีหน้าที่ในการจัดการสัมมนา นิทรรศการและรวบรวมเอกสารทางวิชาการ
- ประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์มีหน้าที่ในการจัดการถ่ายภาพและเผยแพร่กิจกรรมของสมาคม
- กรรมการตำแหน่งอื่นๆ มีหน้าที่คอยช่วยเหลือกิจการต่างๆ ของสมาคมและมีหน้าที่ตามแต่
นายกสมาคมจะมอบหมายให้
หมวด 10 กรรมการบริหารสมาคมพ้นจากตำแหน่งโดย
- ออกตามวาระ
- ลาออก
- ตาย
- ขาดจากสมาชิกภาพ
- คณะกรรมการบริหารมีมติให้พ้นจากตำแหน่ง
- ต้องรับอาญาจำคุกโดยคำพิพากษาโทษจำคุก เว้นแต่ความผิดฐานลหุโทษ หรือความผิดอันได้กระทำขึ้นโดยประมาท
- ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สมาคม และที่ประชุมใหญ่ลงมติไม่ไว้วางใจ และถอนกรรมการบริหารสมาคมทั้งคณะหรือบางคน โดยคะแนนเสียง 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกที่มาประชุม
- ถ้ากรรมการบริหารผู้ใดพ้นจากตำแหน่งตามข้อ 53 เว้นแต่ข้อ 53 (3) และ 53 (6) ให้มีการมอบหมายงานต่างๆ ให้แก่กรรมการบริหารสมาคมที่เข้ามารับหน้าที่ใหม่ภายใน 30 วัน ในกรณีที่พ้นจากตำแหน่งตามข้อ 53 (3) และ 53 (6) ให้คณะกรรมการที่เหลืออยู่ทำการมอบหมายงานต่างๆ แทน
หมวด 11 การดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารสมาคม
- การบริหารสมาคมจะกระทำได้ต่อเมื่อได้จัดตั้งกรรมการบริหารสมาคมครบตามหมวด 7 ข้อ 34 แล้ว โดยมีนายกสมาคมเป็นประธาน
- คณะกรรมการบริหารสมาคมมีอำนาจและหน้าที่ คือ
- บริหารกิจการของสมาคมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์
- วางระเบียบขึ้นใช้ โดยไม่ขัดแย้งต่อวัตถุประสงค์
- แต่งตั้งกรรมการที่ปรึกษา อนุกรรมการหรือพิจารณาเชิญผู้มีเกียรติคุณเข้าเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ ทั้งนี้จะเป็นการชั่วคราวหรือถาวรก็ได้
- แต่งตั้ง บรรจุ ปลด พนักงานของสมาคม
- พิจารณาและลงมติการรับและถอดถอนสมาชิก
- พิจารณาการให้ของสำหรับเป็นที่ระลึกในนามของสมาคมแก่ผู้ที่ช่วยเหลือกิจการของสมาคม
- พิจารณาการรับและการให้ความช่วยเหลือจากรัฐบาล องค์การรัฐวิสาหกิจ สถาบันและบุคคลโดยไม่เป็นภาระผูกพันในทางหนี้สินแก่สมาคมเว้นไว้แต่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่
- ในขณะที่คณะกรรมการบริหารสมาคมชุดใหม่ยังมิได้รับมอบหมายการงานจากคณะกรรมการบริหารสมาคมชุดเก่า ให้คณะกรรมการบริหารสมาคมชุดเก่ารับผิดชอบบริหารงานต่อไปได้เท่าที่จำเป็นต่อการมอบหมายงาน แต่ทั้งนี้ต้องจัดการมอบหมายการงานให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการบริหารสมาคมชุดใหม่ได้รับเลือกตั้งการมอบหมายการงานให้ทำเป็นหนังสือไว้เป็นหลักฐาน ทั้งให้ระบุวันเริ่มต้นมอบหมายและวันเสร็จสิ้นของการมอบหมายการงานนั้นด้วย
- ในกรณีที่นายกสมาคมไม่สามารถปฏิบัติงานได้ ให้อุปนายกสมาคมทำหน้าที่แทน ถ้าทั้งนายกและอุปนายกไม่สามารถปฏิบัติงานได้ ให้คณะกรรมการบริหารสมาคมเลือกกรรมการคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่แทน
- ถ้าตำแหน่งนายกสมาคมว่างลงเพราะเหตุอื่น นอกจากถึงคราวออกตามวาระให้อุปนายกสมาคมเป็นนายกสมาคมไปจนหมดวาระ แต่ถ้าว่างลงเพราะนายกสมาคมลาออก ให้ถือว่าคณะกรรมการชุดนั้นหมดสภาพการเป็นกรรมการบริหารของสมาคม และให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 30 วัน
- ถ้ากรรมการบริหารสมาคมตำแหน่งใดว่างลง ให้นายกสมาคมแต่งตั้งจากสมาชิกสามัญเข้าดำรงตำแหน่งที่ว่างนั้นจนกว่าจะหมดอายุตามวาระ
หมวด 12 กรรมการที่ปรึกษาและอนุกรรมการ
- กรรมการที่ปรึกษาที่คณะกรรมการบริหารสมาคมได้เชิญมาเป็นกรรมการ มีหน้าที่ให้คำแนะนำในกิจการทั่วไปของสมาคม และอยู่ในตำแหน่งตามวาระของคณะกรรมการบริหารสมาคมชุดที่เป็นผู้แต่งตั้งนั้น
- คณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการบริหารสมาคมได้แต่งตั้งขึ้นมีหน้าที่ดำเนินการไปตามที่คณะกรรมการบริหารสมาคมจะมอบหมายให้เป็นครั้งเป็นคราว และอยู่ในตำแหน่งตามที่ได้รับมอบหมาย หรือตามวาระของคณะกรรมการบริหารสมาคมชุดที่เป็นผู้แต่งตั้งนั้น
- กรรมการที่ปรึกษาและอนุกรรมการไม่มีสิทธิออกเสียงลงมติในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคม
หมวด 13 การประชุม
- การประชุมแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
- การประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคม
- การประชุมใหญ่วิสามัญ
- การประชุมใหญ่สามัญ
- การประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคม มีดังนี้
- ให้คณะกรรมการบริหารสมาคม ประชุมปรึกษาหารือกิจการของสมาคม ปีหนึ่งไม่น้อยกว่า
2 ครั้ง โดยให้เลขาธิการสมาคม เป็นผู้เรียกประชุมตามความเห็นชอบของนายกสมาคม
หรือของกรรมการบริหารสมาคม ตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป - องค์ประชุมทุกครั้งต้องมีกรรมการบริหารสมาคมเข้าประชุมไม่น้อยกว่า 7 คน ให้นายกสมาคมเป็นประธานที่ประชุม ถ้านายกสมาคมไม่อยู่ให้ที่ประชุมเลือกตั้งประธานขึ้นชั่วคราวในการประชุมครั้งนั้น
- นอกจากจะได้บังคับไว้เป็นอย่างอื่น มติของที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมให้ถือเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานที่ประชุมเป็นผู้ชี้ขาด
- การประชุมใหญ่วิสามัญ ให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญได้ดังนี้
- คณะกรรมการบริหารสมาคมได้ประชุมเห็นสมควรด้วยคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญ
- สมาชิกสามัญไม่น้อยกว่า 20 คน มีสิทธิร้องขอให้เปิดประชุมใหญ่วิสามัญได้ โดยแสดงความจำนงเป็นหนังสือ ต่อเลขาธิการสมาคมล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน ถ้าสมาชิกที่ร้องขอมาประชุมไม่ครบตามจำนวน 20 คน ให้ถือว่าไม่ครบองค์ประชุม
- ทั้งข้อ 1 และ ข้อ 2 ให้เลขาธิการสมาคมเป็นผู้นัดหมายพร้อมกับส่งระเบียบวาระการประชุมให้สมาชิกทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 20 คน และก่อนเวลาประชุมไม่น้อยกว่า 7 วัน
- การประชุมใหญ่วิสามัญทุกครั้งต้องมีสมาชิกเข้าประชุมไม่น้อยกว่า 20 คน จึงจะเป็นองค์ประชุมดำเนินการได้
- การประชุมใหญ่สามัญ
- ให้คณะกรรมการบริหารสมาคม เรียกประชุมใหญ่อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง องค์ประชุมของการประชุมใหญ่สามัญต้องประกอบด้วยสมาชิกสามัญและสมาชิกนิติบุคคลรวมกันไม่น้อยกว่า 40 ราย ในกรณีที่ไม่ครบองค์ประชุมให้เรียกประชุมใหญ่ภายใน 60 วัน การประชุมครั้งนี้สมาชิกจะมาเท่าใดไม่จำกัดให้ถือเป็นองค์ประชุมได้ และให้มีระเบียบวาระดังต่อไปนี้
- นายกสมาคมแถลงผลงานในรอบปี
- เหรัญญิกสมาคมเสนองบดุลซึ่งผู้ตรวจบัญชีของสมาคมรับรองแล้ว
- เสนองบประมาณ
- ปรึกษากิจการของสมาคม
- เลือกตั้งนายกสมาคมตามวาระ (ถ้ามี)
- ให้คณะกรรมการบริหารสมาคมเรียกประชุมใหญ่ โดยแจ้งให้สมาชิกทราบก่อนล่วงหน้าเป็นหนังสือไม่น้อยกว่า 15 วัน พร้อมทั้งสถานที่และระเบียบวาระการประชุม
- การประชุมใหญ่ทุกครั้งให้นายกสมาคมเป็นประธานประชุม ถ้านายกไม่อยู่หรือไม่สามารถดำเนินการได้ ให้อุปนายกสมาคมเป็นประธานที่ประชุม ถ้าทั้งนายกและอุปนายกไม่สามารถดำเนินการได้ ให้ที่ประชุมเลือกจากกรรมการบริหารสมาคมคนหนึ่งเป็นประธานที่ประชุมนั้น
- นอกจากจะบังคับไว้เป็นอย่างอื่น มติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมากคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานที่ประชุมเป็นผู้ชี้ขาด
- ในที่ประชุมใหญ่ และประชุมกรรมการบริหารทุกครั้ง ให้เลขาธิการหรือผู้ช่วยเลขาธิการสมาคมเป็นผู้บันทึกรายงานการประชุม และให้ประธานที่ประชุมลงนามรับรอง เพื่อรักษาไว้เป็นหลักฐาน
หมวด 14 การเงิน
- ให้นายกสมาคมและเหรัญญิกสมาคมเป็นผู้รับผิดชอบในการเงินและทรัพย์สินของสมาคมตามกฎหมาย และให้ทำรายงานการเงินและทรัพย์สินเสนอต่อคณะกรรมการบริหารสมาคมทุก
6 เดือน - เงินของสมาคมต้องนำฝากธนาคารหรือสถาบันการเงินที่เชื่อถือได้ และที่คณะกรรมการบริหารได้รับรองในนามของสมาคม เงินส่วนหนึ่งให้นำฝากธนาคารประเภทเงินฝากประจำ หรือกระทำการอื่นใดที่จะก่อให้เกิดดอกออกผลตามที่คณะกรรมการบริหารจะเห็นสมควร เว้นแต่กรณีเงินบริจาคซึ่งผู้บริจาคได้กำหนดเงื่อนไขไว้เป็นอย่างอื่น
- เหรัญญิกของสมาคมจะเก็บรักษาเงินสดไว้สำรองจ่ายได้ไม่เกิน 10,000 บาท ถ้าเกินจากนั้นต้องนำฝากธนาคาร
- การสั่งจ่ายเงินของสมาคมจากธนาคาร ให้นายกสมาคมหรือเลขาธิการ และเหรัญญิกร่วมกัน
2 คน เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเงินในกิจการหนึ่งๆ คราวละไม่เกิน 50,000 บาท ถ้ามีความจำเป็นต้องจ่ายเงินเกิน 50,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ให้ขอมติจากคณะกรรมการบริหารสมาคม ถ้าคราวละมากกว่า 100,000 บาท ให้ขอมติจากที่ประชุมใหญ่เป็นกรณีไป - การจ่ายเงินทุกครั้งต้องมีหลักฐานในการจ่ายนั้น ๆ ไว้เป็นหนังสือเพื่อเก็บสอบจนครบจำนวน
- ให้คณะกรรมการบริหารสมาคมแต่งตั้งผู้สอบบัญชี ซึ่งได้จดทะเบียนไว้ถูกต้องตามกฎหมายเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีของสมาคม
หมวด 15 การแก้ไขข้อบังคับ
- การแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมข้อบังคับจะทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่และต้องได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกผู้มีสิทธิออกเสียงที่มาประชุม
- ที่ประชุมใหญ่ลงมติในการนี้ก็ต่อเมื่อมีสมาชิกผู้มีสิทธิออกเสียงไม่น้อยกว่า 20 คน หรือคณะกรรมการบริหารสมาคมเป็นผู้เสนอ โดยให้เสนอเป็นหนังสือต่อเลขาธิการสมาคมล่วงหน้าก่อนที่จะมีการประชุมใหญ่นั้นไม่น้อยกว่า 30 วัน
- ให้เป็นหน้าที่ของเลขาธิการสมาคม โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารสมาคมส่งสำเนาข้อเสนอนั้นไปให้สมาชิก ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่น้อยกว่า 20 วัน และให้ประกาศไว้ ณ สำนักงานสมาคมไม่น้อยกว่า 10 วัน ก่อนที่จะมีการประชุม
- ข้อบังคับที่ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมดังกล่าวนั้นใช้บังคับเมื่อได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว
หมวด 16 การเลิกสมาคมและการชำระบัญชี
- การเลิกสมาคมให้กระทำโดยคะแนนเสียง 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด
ในที่ประชุมใหญ่ - ให้ที่ประชุมใหญ่เป็นผู้ลงมติแต่งตั้งผู้ชำระบัญชี และการชำระบัญชีให้เป็นไปตามกฎหมาย
- ทรัพย์ของสมาคมที่เหลือจากการชำระบัญชีมีอยู่เท่าใด ให้ตกเป็นของนิติบุคคล ซึ่งมีวัตถุประสงค์อย่างเดียวกัน หรือการกุศลอย่างอื่น ตามแต่ที่ประชุมใหญ่ของสมาคมจะเห็นสมควร